วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557

หลักสูตรอิงมาตรฐาน

หลักสูตรอิงมาตรฐาน
หลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standards-based curriculum) หมายถึง หลักสูตรที่มีมาตรฐานเป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ซึ่งเป็นคุณภาพที่คาดหวังให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตรตลอดแนวตั้งแต่ระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ระดับสถานศึกษา ตลอดจนถึงระดับชั้นเรียน จะมีลักษณะเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน คือ ยึดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายและเป็นกรอบทิศทางในการกำหนดโครงสร้าง เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ กล่าวโดยรวมก็คือ การกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standards-based curriculum) การเรียนการสอนอิงมาตรฐาน (Standards-based instruction) และการประเมินผลอิงมาตรฐาน (Standards-based assessment) การกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ แต่มาตรฐานการเรียนรู้จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆได้เลย หากไม่มีการเชื่อมโยงมาตรฐานไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง การสร้างหลักสูตรที่สัมพันธ์หรืออิงกับมาตรฐานการเรียนรู้อย่างชัดเจน จะช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็น ในการจัดทำหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่มาตรฐาน ครูผู้สอนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำหลักสูตร จำเป็นต้องเข้าใจแนวคิด หลักการ และแนวปฏิบัติของหลักสูตรอิงมาตรฐานซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ คือ 1. มาตรฐานเป็นจุดเน้นของการพัฒนาหลักสูตรในทุกระดับ ในระบบการศึกษาที่มีมาตรฐานเป็นเป้าหมายนั้น กระบวนการพัฒนาหลักสูตรตลอดแนว ตั้งแต่ระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ระดับสถานศึกษา ตลอดจนถึงระดับชั้นเรียนจะต้องเน้นและยึดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นหลักและเป้าหมายสำคัญ นักการศึกษา และนักพัฒนาหลักสูตรในยุคปัจจุบันเชื่อว่า การนำมาตรฐานการเรียนรู้ไปสู่หลักสูตรสถานศึกษา และการเรียนการสอนในชั้นเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นขั้นตอนของการนำสิ่งที่คาดหวังในระดับชาติไปก่อให้เกิดผลในการพัฒนาผู้เรียน ดังนั้นการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้เชื่อมโยงกับมาตรฐาน จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรให้ความสนใจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรสถานศึกษาและการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนนั้น มีผลโดยตรงต่อผู้เรียน จำเป็นที่ครูผู้สอนต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษว่าเป้าหมาย กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน หรือวิธีการประเมินผล เชื่อมโยงสัมพันธ์กับมาตรฐานการเรียนรู้หรือไม่เพียงไร 2. องค์ประกอบของหลักสูตรเชื่อมโยงกับมาตรฐาน นักการศึกษาและนักพัฒนาหลักสูตรในยุคปัจจุบันเชื่อว่า การนำมาตรฐานการเรียนรู้ไปสู่หลักสูตรสถานศึกษาและการเรียนการสอนในชั้นเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นขั้นตอนของการนำสิ่งที่คาดหวังในระดับชาติ ไปก่อให้เกิดผลในการพัฒนาผู้เรียน ดังนั้นการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้เชื่อมโยงกับมาตรฐาน ทุกองค์ประกอบของหลักสูตรไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาสาระที่สอน กิจกรรมการเรียนรู้ ชิ้นงาน/ภาระงานที่ผู้เรียนต้องปฏิบัติ เกณฑ์การวัดและประเมินผล สื่อการเรียนรู้ ต้องเชื่อมโยง สะท้อนสิ่งที่ต้องการพัฒนาผู้เรียนที่ระบุไว้ในมาตรฐานการเรียนรู้ ในการออกแบบหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ผู้เกี่ยวข้องและครูผู้สอนต้องวิเคราะห์คำสำคัญ (Key word) ว่ามาตรฐานและตัวชี้วัดนั้นระบุว่านักเรียนควรรู้อะไร และทำอะไรได้ หรือต้องการให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะ เจตคติ คุณธรรมจริยธรรมอะไร ข้อมูลจากการวิเคราะห์นี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดองค์ประกอบของหลักสูตรดังกล่าวต่อไป 3. หน่วยการเรียนรู้คือหัวใจของหลักสูตร การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการจัดทำหลักสูตรอิงมาตรฐาน เพราะหน่วยการเรียนรู้จะมีรายละเอียดของเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียน การวัดและประเมินผล ซึ่งจะนำมาตรฐานไปสู่การปฏิบัติในในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนอย่างแท้จริง ปรัชญาการศึกษาในยุคที่ผ่านมานั้นมักจะเน้นการสอนเนื้อหาสาระ ดังนั้นรูปแบบหลักสูตรการเรียนการสอนในยุคก่อนจึงมีลักษณะเป็นหลักสูตรอิงเนื้อหา การวัดประเมินผลในหลักสูตรรูปแบบนี้ก็เน้นที่การจดจำเนื้อหาให้ได้มากที่สุด และเกณฑ์การวัดประเมินผลก็กำหนดเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม การจัดทำหลักสูตรลักษณะนี้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เนื้อหา และการท่องจำ หลักสูตรแบบอิงมาตรฐานเน้นการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานเป็นเป้าหมาย (Standards-based unit) มีการกำหนดแก่นเรื่องของหน่วย (Theme) ซึ่งเอื้อต่อการหลอมรวมเนื้อหาของศาสตร์สาขาต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ และกำหนดงานให้ผู้เรียนปฏิบัติเพื่อฝึกฝนและเป็นร่องรอยสำหรับประเมินว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถถึงระดับที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานหรือไม่ ดังนั้นมาตรฐานที่เป็นเป้าหมายในแต่ละหน่วยการเรียนรู้อาจมีได้หลายมาตรฐาน และอาจมาจากหลากหลายสาขาวิชา และอาจมีทั้งมาตรฐานที่เป็นเนื้อหา มาตรฐานที่เน้นทักษะกระบวนการ การจัดการเรียนรู้เป็นหน่วยลักษณะนี้ เนื้อหาสาระ และกิจกรรมจึงเป็นเพียงหนทาง ที่จะนำพาผู้เรียนไปถึงหลักชัย คือมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด ผู้เรียนอาจบรรลุถึงมาตรฐานเดียวกันด้วยเนื้อหาและวิธีการที่แตกต่างกันได้ นักวิชาการ และนักพัฒนาหลักสูตรในยุคปัจจุบันเชื่อว่า หลักสูตรลักษณะนี้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและท้องถิ่นอย่างแท้จริง 4. กระบวนการ และขั้นตอนการจัดทำหลักสูตรมีความยืดหยุ่น ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนอิงมาตรฐานนั้น สามารถทำได้หลายรูปแบบ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุถึงเป้าหมายเดียวกัน มิได้มีการกำหนดหรือจัดลำดับขั้นตอนที่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับเหตุผล วัตถุประสงค์ และความจำเป็นของแต่ละบริบท เช่น อาจเริ่มต้นจากการวิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้ หรืออาจเริ่ม จากการกำหนดหัวข้อ/ประเด็นปัญหาที่น่าสนใจ หรือเริ่มจากบทเรียนที่มีอยู่เดิมแล้ว โดยเชื่อมโยงหัวข้อหรือบทเรียนนั้นๆ ว่าสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ใดบ้าง 5. การประเมินผลสะท้อนมาตรฐานอย่างชัดเจน มาตรฐานและการประเมินผลมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด การวัดและประเมินผลถือว่าเป็นจุดที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งของการจัดทำหลักสูตรแบบอิงมาตรฐาน แนวคิดด้านการศึกษาในยุคปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนจากยุคที่เน้นพฤติกรรมนิยมซึ่งวัดประเมินผลการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ย่อย เป็นยุคที่ให้ความสำคัญแก่การประเมินในองค์รวมโดยเทียบเคียงกับมาตรฐานเป็นสำคัญ นักวิชาการในยุคของการปฏิรูปการศึกษาที่มีมาตรฐานเป็นเป้าหมาย ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่าการจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างประสบความสำเร็จนั้น มาตรฐานต้องเป็นตัวเทียบเคียง ที่สำคัญในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ระดับท้องถิ่นหรือเขตพื้นที่การศึกษา และที่สำคัญที่สุดคือ ระดับสถานศึกษา และระดับชั้นเรียน ดังนั้นเกณฑ์ต่างๆ หรือร่องรอยหลักฐานในการประเมินผลการเรียนจะต้องเชื่อมโยงและสะท้อนมาตรฐานการเรียนรู้อย่างชัดเจน และมีความชัดเจนในการที่จะบ่งชี้ได้ว่าผู้เรียนบรรลุถึงมาตรฐานหรือไม่ เพียงใด หากยังไม่บรรลุมีจุดใดบ้างที่จะต้องพัฒนา ข้อมูลจากการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนนี้ นับเป็นข้อมูลสำคัญมากในการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาเยาวชนของชาติให้มีคุณภาพตามที่มุ่งหวังต่อไป